นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับความร่วมมือในระดับโลก

ภูมิหลังของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง


นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt and One Road) นั้นถือเป็นนโยบายที่จีนต้องการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมขึ้นมาใหม่ ซึ่งเส้นทางสายไหมนั้นเป็นเส้นทางการค้าและวัฒนธรรม ที่ทอดยาวจากภูมิภาคเอเชียในในทิศตะวันออกไปสู่ภูมิภาคตะวันตก โดยเส้นทางดังกล่าวมีความยาวประมาณ 6,437 กิโลเมตร เส้นทางนี้ได้ชื่อว่า “เส้นทางสายไหม” เนื่องจากเป็นเส้นทางการค้าของชาวจีนที่ได้กำไรมาจากการค้าผ้าไหมเป็นเงินจำนวนมากมาตลอดเส้นทาง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น และต่อมาได้มีการขยายเส้นทางการค้าในภูมิภาคเอเชียกลางราว 114 ปีก่อนคริสตกาล การค้าดังกล่าวเป็นการค้าผ่านทางคณะทูตและการสำรวจของผู้แทนทางการทูตของจักรวรรดิจีน ที่ริเริ่มโดย จาง เชียน (Zhang Qian) ทูตของราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น เส้นทางสายไหมนั้นถือเป็นเส้นทางสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอารยธรรมใน จีน อินเดีย เปอร์เซีย ยุโรปและคาบสมุทรอาหรับ แม้ว่าผ้าไหมจะเป็นสินค้าหลักของจีนที่ส่งขายไปยังภูมิภาคต่างๆผ่านเส้นทางสายไหม แต่ก็มีการค้าสินค้าประเภทอื่นอีกเป็นจำนวนมากบนเส้นทางนี้ เช่น เครื่องเคลือบดินเผ่า ใบชา ฯลฯ นอกจากการค้า จีนก็ยังใช้เส้นทางนี้ในการเผยแพร่แนวความคิดทางด้านศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปตามเส้นทางนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเส้นทางสายไหมก็ยังเป็นเส้นทางทางวัฒนธรรมอีกด้วย

นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt and One Road) จึงถือเป็นเส้นทางการการค้าและเป็นยุทธศาสตาร์ทางเศรษฐกิจใหม่ของจีน ที่มีรากฐานมาจากการรื้อฟื้นเส้นทางทางการค้าเก่า อย่างเส้นทางสายไหม จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี หลี่ เคอ เฉียง ได้มีการนำเส้นทางการค้าที่ชื่อว่า “เส้นทางสายไหม” ที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต ทั้งในแง่ของการขยายอิทธิพลทางการค้าและเผยแพร่วัฒนธรรมของจีนกลับมารื้อฟื้น และปรับปรุงพัฒนาขึ้นใหม่เพื่อขยายอิทธิพลทางการค้าและวัฒนธรรมของจีนออกไปในเวทีระดับโลกมากขึ้น ทั้งนี้ ชื่อของเส้นทางสายไหม (Silk Road) เดิมนั้นจะมีการเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าเป็น หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt and One Road) หรืออีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันดีคือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางแห่งการริเริ่ม (Belt and Road Initiative) ซึ่งเส้นทางนี้จะมีทิศทางหลักๆสามทิศทาง: เส้นทางที่หนึ่งจากประเทศจีนไปยังเอเชียกลางและรัสเซียแล้วไปยังยุโรป เส้นทางที่สองจากจีนผ่านเอเชียกลางและเอเชียตะวันตกไปยังอ่าวเปอร์เซียและสิ้นสุดที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเส้นทางที่สามจากจีนผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ไปยังมหาสมุทรอินเดียและต่อไปยังแอฟริกา รวมถึงท่าเรือ ณ นครเวนิสในอิตาลี ตามแผนที่ประกอบในรูปภาพด้านล่าง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ one belt one road map

ในเดือนกันยายน ปีค.ศ. 2013 ระหว่างการเดินทางไปยังประเทศในเอเชียกลางหลังจากที่ภเข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีของ สี จิ้นผิง เขาได้ประกาศนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่ มหาวิทยาลัยนาซาร์เบเยฟ (Nazarbayev University) ประเทศคาซัคสถาน โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เสนอให้จีนและเอเชียกลางร่วมมือกันสร้างสายพานเศรษฐกิจสายไหมใหม่เพื่อเพิ่มความร่วมมือในระดับภูมิภาคระหว่างกัน การดำเนินนโยบายเช่นนี้ของจีนก็จะก่อให้เกิดการเชื่อมต่อเส้นทางสำหรับการค้าทางทะเลจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังทะเลบอลติก และก่อให้เกิดการเชื่อมต่อเส้นทางสำหรับการค้าทางบก จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกไปยังเอเชียตะวันตก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ รวมถึงในระดับโลกก็จะมีการขยายเส้นทางไปยังแอฟริกาและยุโรป โดยจีนจะส่งเสริมไปในเรื่องของ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การหมุนเวียนเงิน การให้การสนับสนุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศต่างๆบนเส้นทางให้มีความพร้อมต่อการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางต่างๆมากขึ้น โดยการเข้าไปลงทุนสร้าง ถนน รางรถไฟ ทางด่วน เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ ศูนย์วิจัยพลังงานทดแทนเพื่อการขนส่งเป็นต้น นโยบายเช่นนี้ของ สี จิ้นผิง ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 2013 และในเดือนมีนาคม ปีค.ศ. 2015 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน นาย หวัง หยี ได้ประกาศว่าเป้าหมายสำคัญของนโยบายต่างประเทศจีนใน ปีค.ศ. 2015 นั้นคือความคืบหน้าในทุกๆด้านของ นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และการฟื้นฟูพื้นทื่ปยูเรเซียซึ่งจีนยินดีจะให้การสนับสนุนอย่างยิ่ง[2]

นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) นั้นเป็นนโยบายใหม่ทางเศรษฐกิจของจีนที่เป็นรากฐานของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับโลก ซึ่งจะเน้นไปที่การเชื่อมต่อและความร่วมมือระหว่างประเทศในแถบเอเชีย ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา รวมถึงภูมิภาคอื่นๆในอนาคตที่จีนได้เข้าไปลงทุนทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งเสมอมาในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก โดยต้องการรื้อฟื้นเส้นทางการค้าเดิมอย่างเส้นทางสายไหมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ทั้งเส้นทางการค้าบนพื้นดิน และเพิ่มเติมเส้นทางการค้าทางทะเล โดยรัฐบาลจีนได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาเส้นทางต่างๆและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างรัฐสมาชิก ความเคารพซึ่งกันและกันในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน มีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มีความเสมอภาค และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับรัฐสมาชิกที่ต้องการเข้าร่วมโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของรัฐบาลจีน

นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนนั้นมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินโดยเน้นไปที่หลักการของความสามัคคีของรัฐสมาชิกทั้งหลาย หล่อหลอมความเป็นปึกแผ่นระหว่างอารยธรรมในระหว่างการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมใหม่ขึ้นมาอีกครั้งรวมถึงเส้นทางใหม่ทางทะเล คิดริเริ่มของจีนนี้ไม่ได้เน้นว่า ประเทศอื่นควรดำเนินการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมใหม่ตามแบบแผนเส้นทางและการพัฒนาของจีน เนื่องจากจีนไม่ต้องการที่จะทำลายวัฒนธรรมและอารยธรรมของประเทศอื่นๆที่ดำรงอยู่ระหว่างเส้นทาง แต่จีนจะเคารพทางเลือกของเส้นทางและการพัฒนาโมเดลเส้นทางของประเทศอื่นๆรวมถึงให้การสนับสนุนอีกด้วย โดยมีการหารือระหว่างรัฐสมาชิกที่มีอารยธรรมที่แตกต่างกัน ในหลักการของการแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่างในการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมขึ้นมาใหม่ร่วมกัน เพื่อให้เป็นที่ยอบรับของทุกประเทศที่ตั้งอยู่บนเส้นทางที่สามารถจะร่วมรื้อฟื้นและดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของรัฐบาลจีน การดำเนินนโยบายต่างประเทศเช่นนี้ของจีนนั้นจะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบความร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่จะสร้างผลดีสูงสุดแก่ภูมิรัฐศาสตร์ของจีน ซึ่งจะทำให้จีนมีอิทธิพลมากขึ้นบนเส้นทางที่ทอดผ่านมหาทวีปยูเรเซียและขยายไปถึงแอฟริกา รวมถึงจะเป็นการตอบโต้การครอบงำมหาทวีปนี้โดยประเทศโลกตะวันตกเพียงฝ่ายเดียวได้อีกด้วย[3]

การริเริมนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง


จุดเริ่มต้นของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนั้นมีการประกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในปีค.ศ. 2013 โดยนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางถือเป็นโครงการเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจพหุภาคีในระดับโลกของจีน ประกอบด้วยเส้นทาง 2 เส้นทางคือ

เส้นทางสายไหมใหม่สำหรับการค้าทางบก (Silk Road Economic Belt) คือเส้นทางที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศข้อริเริ่มอย่างเป็นทางการในขณะที่เดินทางไปเยือนประเทศคาซักสถาน โดยเส้นทางทางการค้าทางบกนั้น เป็นเส้นทางทางการค้าที่มีการเชื่อมโยงประเทศที่ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมเดิม คือประเทศอินเดีย เปอร์เซีย ประเทศในทวีปยุโรป และประเทศริมคาบสมุทรอาหรับ ผ่านภูมิภาคเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก(ตะวันออกกลาง) เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีการร่วมกันพัฒนาเส้นทางทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆเช่นนี้ ถือเป็นการบูรนาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลกเนื่องจากจีนเองก็ไม่ได้กีดกันประเทศในทวีปอเมริกาในการเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้ดำเนินการโดยผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่างๆบนเส้นทาง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจย่อยตามภูมิภาคต่างๆที่จะกล่าวต่อไปด้วยเช่นกัน มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการขยายการค้าและเส้นทางทางการค้าที่มีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น

เส้นทางสายไหมใหม่สำหรับการค้าทางทะเล (Maritime Silk Road) คือเส้นทางที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง พูดถึงระหว่างการเยือนอินโดนีเซีย ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 ซึ่งจะเป็นเส้นทางการค้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศในแถบภูมิภาคติดกับทะเลจีน ได้แก่ เอเชียตะวันออกฉียงใต้ โอเชียเนีย แอฟริกาเหนือ เอเชียแปซิฟิก ทะเลอาหรับรวมถึงมหาสมุทรอินเดีย

ประเทศต่างๆที่อยู่ในเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือเส้นทางสายไหมใหม่นั้น ล้วนแต่เป็นประเทศที่เข้าร่วมหรือให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (The Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ซึ่งมีจีนเป็นประเทศผู้ก่อตั้งและผู้ดำเนินงานหลัก เพื่อที่จะเป็นธนาคารหลักในการสนับสนุนและพัฒนารูปแบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆบนเส้นทางสายไหมใหม่ควบคู่กับความร่วมมือต่างๆไปในเวลาเดียวกัน การดำเนินยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ เนื่องจากในเส้นทางต่างๆของยุทศาสตร์ได้สร้างรูปแบบของการโดยล้อมประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจต่างๆในเอเชียไว้ได้เกือบทั้งหมดจนทำให้ประเทศเหล่านั้นยอมผ่อนปรนและมีการหารือในการตกลงให้ความร่วมมือกับจีนอย่างเช่น อินเดีย แม้จะยังไม่มีความคืบหน้ามากก็ตามนอกจากนี้ยังมีรูปแบบความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่นๆที่เป็นการท้าท้าย นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนอยู่ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อต่อไป นอกจากนี้บนเส้นทางทางการค้าทั้งสองของยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนก็กำลังเตรียมจัดทำนโยบายส่งเสริม คุ้มครอง และอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติให้มีความเสรีมากขึ้นโดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศบทเส้นทางสายไหมใหม่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ ทั้งในด้าน การค้า การลงทุน การคมนาคมขนส่ง เรื่องพลังงานทดแทน การรวมกลุ่มทางภูมิภาคและอนุภูมิภาค รวมถึงการใช้สกุลเงินหยวน เหมือนในองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ อีกด้วย เพื่อให้การบูรนาการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศบนเส้นทางทางการค้าของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งมีความแนบแน่นและใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น รวมถึงรูปแบบกฎระเบียบที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต



[1] Chen Jia, "'Belt and Road' takes new route,” China Daily, europe.chinadaily.com.cn/business/2015-04/15/content_20435638.htm (accessed Octorber 25, 2017).

[2] Wong Billy, “One Belt, One Road Initiative: The Implications for Hong Kong,” HKTDC Research, www.economists-pick-research.hktdc.com/business-news/article/Research-Articles/One-Belt-One-Road-Initiative-The-Implications-for-Hong-Kong/rp/en/1/1X000000/1X0A23WV.htm (accessed Octorber 25, 2017).

[3] Usman W. Chohan, “What is One Belt One Road? A Surplus Recycling Mechanism Approach”, Social Science Research Network, www.ssrn.com/abstract=2997650 (accessed Octorber 25, 2017).

[4] James McBride, "Building the New Silk Road," Council on Foreign Eelations, www.cfr.org/backgrounder/building-new-silk-road (accessed Octorber 25, 2017).

ความคิดเห็น