ทางสามแพร่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทยในเอเชียแปซิฟิก"ก่อนสหรัฐฯเอียงขวา"

          จากความล้มเหลวของการเจรจาการค้าเสรีแบบพหุภาคีรอบโดฮา ทำให้ประเทศต่างๆหันไปเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคีและพหุภาคีระหว่างภูมิภาคมากขึ้นซึ่งทำให้ข้อตกลงต่างๆซับซ้อนและพัวพันกันยุ่งเหยิงเปรียบเสมือนจาน “สปาเกตตี” หรือ ชามก๋วยเตี๋ยวรูปแบบการเจรจาหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคแบบพหุภาคีอย่าง RCEP TPP และการผลักดัน FTAAP ก็เป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นและทำให้เราเห็นได้ชัดจากผลของความล้มเหลวของการเจรจาการค้าเสรีแบบพหุภาคีรอบโดฮาที่มีประเด็นต่างๆมากมายไม่สามารถตกลงกันได้ปะปนไปด้วยปัจจัยและอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองที่แตกต่างกันในการเจรจาของประเทศสมาชิก RCEP TPP และการผลักดัน FTAAP ได้กลายเป็นความหวังที่จะช่วยให้กระบวนการเปิดเสรีทางการค้าเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งประเทศสมาชิกต่างมีความเชื่อว่า ประเด็นต่างๆที่ตกลงกันไม่ได้ในที่ประชุมจะลดน้อยลงเนื่องจากมีสมาชิกน้อยกว่าและมีความใกล้ชิดกันในระดับภูมิภาคที่ใกล้เคียงกัน ในรูปแบบการเจรจาหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ยังมีปัจจัยและอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศมหาอำนาจครอบงำอยู่และแข่งขันระหว่างกันอย่าง RCEP FTAAP ที่อยู่ใต้อิทธิพลของจีน และ TPP ที่อยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงเป็นทางเลือกแก่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยที่อยู่ในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องว่าควรจะเดินไปในทิศทางใดที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแก่ประเทศไทย ต่อผลประโยชน์แห่งชาติของตนและการรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการตัดสินในดำเนินการใดๆ
รูปแบบการเจรจาหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคแบบพหุภาคี RCEP TPP และการผลักดัน FTAAP
1. ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP
สาเหตุของการก่อตั้ง หลักการทั่วไป และจุดประสงค์ของ RCEP
จากความยืดเยื้อของการเจรจาการค้าพหุภาคีระดับโลก ภายใต้องค์การการค้าระหว่างประเทศ ในรอบโดฮาซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศระดับโลก ส่งผลกระทบให้รัฐต่างๆหันไปให้ความสนใจกับ รูปแบบความร่วมมือและการบูรนาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นทั่วโลกมากขึ้น[1]  และในกลุ่ม ASEAN+6 ก็เช่นกัน เสริมกับปัจจัยภายในที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องการยกระดับของความร่วมมือ ASEAN+6 FTA ให้สูงขึ้นเป็น ASEAN++ ที่จะเปิดรับสมาชิกเข้าร่วมจากภาคยานุวัติในกรอบ RCEP มากขึ้นในอนาคตเพื่อการขยายเขตการค้าเสรีที่กว้างขึ้น[2] หลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ปี 2012 ได้มีการประกาศที่จะผลักดัน ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค” (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) เพื่อผลักดันรูปแบบการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนระหว่าง ASEAN+6 [3]ให้มีการพัฒนาและดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจากการปรับปรุงเพิ่มเติมข้อตงลงต่างซึ่งกล่าวต่อไป  RCEP นั้นเป็นตลาดที่ใหญ่ หลากหลาย มั่งคั่ง มีทรัพยากรและเทคโนโลยีสูง มีความเกื้อกูลทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกมากกว่า AEC โดยไทยสามารถใช้เป็นฐานในการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันโดยเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายการผลิตและห่วงโซ่อุปทานได้ และเนื่องจากความตกลงในกรอบ ASEAN+1s FTA กับประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย นั้นยังมีมีข้อจำกัดและจุดอ่อน ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควรแก่ ประเทศสมาชิกทั้งหมด และไม่เอื้อต่อการพัฒนาโครงข่ายการผลิต และห่วงโซ่อุปทานจึงเห็นควรนำมาปรับปรุงแก้ไขในกรอบ RCEP ต่อไป[4]
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)  เป็นความตกลงเพื่อเปิดเสรีทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับประเทศที่ลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับอาเซียน โดยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2012 ผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ (ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์) ได้ออกปฏิญญาร่วมเพื่อประกาศให้มีการเริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการในปี 2013 และเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2015 ในการประชุม RCEP Summit ณ มาเลเซีย ผู้นำ RCEP ได้ออกแถลงการณ์ขยายระยะเวลาการเจรจาจากเป้าหมายเดิมปี 2015 เป็นปี 2016 RCEP นั้นพัฒนามาจากแนวคิด ASEAN+3/ASEAN+6 เป็นยุทธศาสตร์ AEC Blueprint ที่อาเซียนต้องการรักษาบทบาทในการเป็นศูนย์กลาง (ASEAN Centrality) ขับเคลื่อนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นในภูมิภาคเพื่อขยายข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีอยู่ให้ครอบคลุมทุกประเทศเหล่านั้น โดยมุ่งหวังให้ตกลงกันสำเร็จก่อนสิ้นปี 2015 ทั้งนี้ RCEP จะครอบคลุม พื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโลก และเป็นเกือบหนึ่งในสามของผลผลิตทางเศรษฐกิจของโลก (theworld’s economic output) บนเงื่อนไขภาคีที่เปิดกว้างสำหรับประเทศต่างๆ ที่ต้องการเข้าร่วมในภายหลัง [5]
ความตกลง RCEP เป็นความตกลงแบบองค์รวมที่มีมาตรฐานสูง ประกอบไปด้วยการเปิดเสรีทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยจะครอบคลุมประเด็นทางการค้าที่กว้างขึ้น และตั้งเป้าหมายที่จะลดภาษีระหว่างกันให้ได้มากที่สุด รวมถึง การลดอุปสรรคทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน และจะเปิดกว้างในประเด็นใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน อาทิ เรื่องการแข่งขัน และทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปในความตกลงด้วย รวมถึงเป็นการผนวกรวม ข้อตกลงการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีอยู่ในลักษณะ ASEAN+1 ให้กลายเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กว้างขึ้นในระดับภูมิภาคที่รวมอินเดีย ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ด้วยแนวทางวิถีอาเซียน (ASEAN way) ซึ่งทำให้วัตถุประสงค์หรือข้อผูกพันใดๆ ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการฉันทามติ [6]
ขณะเดียวกันความแตกต่างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทำให้ RCEP มีกลไกที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ โดยให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกเชื่อมโยงเชิงกายภาพ เชิงสถาบัน ตลอดจนผูกพันวิถีชีวิตของผู้คนเข้าหากันมากขึ้น จะเห็นได้ว่าความตกลง RCEP นั้นจะเน้นไปในประเด็นทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลักและพยายามคงรูปแบบเดิมของ ASEAN ไว้ที่จะเน้นในเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลักและหลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นทางการเมืองที่มักจะตกลงตามหลักฉันทามติได้ยาก และจีนก็ไม่ต้องการให้นำประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้เข้ามาอยู่ใน RCEP เช่นกันเนื่องจากไม่ต้องการให้เป็นประเด็นระหว่างประเทศและกระทบต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน RCEP
ถึงกระนั้นก็ยังมีวาระซ้อนเร้นทางการเมืองระหว่างประเทศของประเทศมหาอำนาจใน RCEP อยู่บ้างเช่น การสนับสนุน RCEP ของจีนที่ต้องการให้เป็นรูปแบบความตกลงที่รักษาดุลอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคกับ TPP  
ส่วนญี่ปุ่นที่พยายามขัดขวางอิทธิพลและการครอบงำทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาค โดยสนับสนุนการขยายรูปแบบของความร่วมมือ ASEAN + 6 เสมอมาเพื่อลดทอนอิทธิพลของจีนไม่ให้มีการครอบงำความร่วมมือจากจำนวนรัฐสมาชิกที่มีมากขึ้นและมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเช่นกัน อย่างอินเดียและออสเตรเลีย[7]
 ส่วนประเทศกลุ่มอาเซียนก็จะได้ประโยชน์จากการเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสามารถและความเข้มแข็งในการเจรจาต่อรองกับมหาอำนาจในความตกลงได้มากขึ้นเพื่อไม่ให้ตนเสียเปรียบ รวมถึงการขับเคลื่อนความตกลงให้เป็นไปในรูปแบบ ASEAN WAY แต่ก็อาจแลกมาซึ่งความเชื่องช้าและอุปสรรค์ต่อการขับเคลื่อนความตกลงในการบรรลุผล
ข้อตกลงต่างๆที่พิจารณาและตกลงไปแล้วใน RCEP
            ในเดือน พ.ย. 2011 ผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสารกรอบอาเซียนสำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนที่จะจัดทำความตกลง RCEP โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง (ASEAN Centrality) ในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มของภูมิภาค
ในเดือน ส.ค. 2012 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและประเทศ+6 รับรองเอกสารว่าด้วยหลักการทั่วไปและวัตถุประสงค์ของการเจรจา RCEP
ในเดือน พ.ย. 2012 ผู้นำอาเซียนและประเทศ+6 ได้ออกร่างปฏิญญาร่วม ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ว่าด้วยการประกาศให้เริ่มการเจรจา RCEP ในปี 2013 และแล้วเสร็จในปี 2015
หลังจากนั้นก็มีการประชุม คณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP (TNC) 14 ครั้ง และการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก 4 ครั้ง
ในเดือน ส.ค. 2015 มีการประชุม RCEP Ministerial Meeting ครั้งที่ 3 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียรัฐมนตรี RCEP ได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับข้อกำหนดและหลักการสำหรับการเปิดตลาดสินค้าเบื้องต้น (Modality for Initial Tariff Offers) ซึ่งทำให้ประเทศสมาชิกบรรลุข้อตกลงหลักการสำคัญของการเปิดตลาดครบทั้ง 3 ด้าน คือ การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน และมอบหมายให้คณะกรรมการเจรจาการค้า (TNC) เร่งเจรจารายละเอียดทางเทคนิคและแลกเปลี่ยนรายละเอียดของข้อเสนอการเปิดตลาดทั้ง 3 ด้าน  
ในเดือน พ.ย. 2015 ผู้นำ RCEP ได้ออกแถลงการณ์ร่วม “Joint Statement on RCEP Negotiations” ขยายระยะเวลาการเจรจาเป็นภายในปี 2016 ในการประชุม RCEP Summit ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย[8]
การประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2016 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ได้มีการเร่งหาข้อสรุปประเด็นการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะขับเคลื่อน RCEP ให้คืบหน้าและสามารถสรุปผลได้โดยเร็ว ตามที่ผู้นำได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ และรัฐมนตรีประเทศสมาชิกได้มอบหมายให้ คณะกรรมการเจรจาการค้าเร่งเจรจา RCEP ให้มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในการเจรจา RCEP-TNC ครั้งที่ 16ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 6 10 ธันวาคม 2016 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจสามารถตกลงข้อบทเพิ่มเติม เช่น นโยบายการเเข่งขัน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น โดยการเพิ่มเรื่องต่างๆเข้าไปในRCEP จะส่งผลให้ RCEP มีความสมบูรณ์ไม่ต่างไปจาก TPP[9]
RCEP นั้นมีกลไกการเจรจาในข้อตกลงต่างๆ  โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP หรือ “RCEP Trade Negotiating Committee” (RCEP-TNC) เพื่อเป็นกลไกหลักในการเจรจา ความตกลงฯต่างๆ 14 คณะดังนี้ [10]
(1) คณะทํางาน ด้านการค้าสินค้า (2) คณะทํางานด้านการค้าบริการ (3) คณะทํางานด้านการลงทุน (4) คณะทํางานด้านการแข่งขัน (5) คณะทํางานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (6) คณะทํางานด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (7) คณะทํางานด้านกฎหมาย (8) คณะทํางานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(9) คณะทํางานย่อยด้านกฎของถิ่นกําเนิดสินค้า (10) คณะทํางานย่อยด้านพิธีการศุลกากรและการอํานวยความสะดวกทางการค้า (11) คณะทํางานย่อยด้านมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (12) คณะทํางานย่อยด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (13) คณะทํางานย่อยด้านบริการการเงิน (14) คณะทํางานย่อยด้านบริการโทรคมนาคม
ซึ่งถ้าเรานำคณะทำงานต่างๆที่ต้องการสร้างรูปแบบของความตกลงที่คณะตนได้รับหมอบหมายให้สำเร็จมาเปรียบเทียบกับรูปแบบของข้อตกลงของ WTO ก็จะเห็นว่ามีความตกลงที่ต้องการจะทำให้บรรลุผลนั้นคล้ายคลึงกันหลายประการ แต่ก็ยังมีความตกลงที่แตกต่างกันไปในบางประเด็นไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาให้เกิดการบรรลุความตกลงใน RCEP อยู่อย่าง ความตกลงว่าด้วยสนค้าเกษตร ความตกลงสิ่งทอและเสื้อผ้า ความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด ความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร ความตกลงว่าด้วยการตรวจสอบก่อนส่งออก ความตกลงว่าด้วยวิธีดําเนินการออกใบอนุญาตนําเข้า ความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้อง ความเข้าใจวาด้วยกฎและกระบวนการยุติข้อพิพาท ความตกลงว่าด้วยการจดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความตกลงว่าด้วยการค้าเครื่องบนพลเรือน
เนื่องจากความตกลงดังกล่าวนั้นบางประเด็นได้รวมอยู่ในข้อตกลง FTA เดิมกับประเทศสมาชิกต่างๆแล้วประกอบกับความพยายามสร้างความกระทัดรัดและรูปแบบที่ปฏิบัติได้จริงใน RCEP จึงมิได้นำประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งที่ทำให้การเจรจาการค้าพหุภาคีในระดับโลกที่ล้มเหลวมาเจรจาในกรอบ RCEP อีก เช่น ความตกลงว่าด้วยสนค้าเกษตร ความตกลงสิ่งทอและเสื้อผ้า ความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งอาจสร้างปัญหาให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างประเทศผู้ที่ผลิตและมิได้ผลิตสินค้านั้นๆได้ รวมถึงบางประเด็นที่ประเทศในกรอบ RCEP มิได้มีการผลิตสินค้าตามความตกลงนั้นเช่น ความตกลงว่าด้วยการค้าเครื่องบนพลเรือน เป็นต้น[11]
ผลประโยชน์และความท้าทายของข้อตกลงต่างๆใน RCEP ต่อไทย
ในเรื่องผลประโยชน์ไทยจะได้รับประโยชน์จากความตกลง RCEP ในเรื่องการขยายตลาดที่ใหญ่ขึ้นส่งผลให้มูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง เนื่องจากภาษีนำเข้าลดลงหรือเป็นศูนย์ รวมถึงส่งผลให้มีการลงทุนระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น RCEP ประกอบด้วยประเทศสมาชิกยักษ์ใหญ่ 2 ประเทศ ได้แก่ จีนและอินเดีย เพียงแค่ 2 ประเทศนี้ก็มีประชากรรวมกันมากกว่า 2 พันล้านคน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้า บริการ และการลงทุนของไทยมากขึ้น และ RCEP จะส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการผลิตของภูมิภาค ผู้ประกอบการไทยสามารถสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่มีความหลากหลายทั้งเชิงคุณภาพและราคามากขึ้น จากเดิมที่สรรหาวัตถุดิบเพียง 10 ประเทศอาเซียน ขยายเป็น 16 ประเทศ ทำให้ไทยเข้าไปอยู่ในเครือข่ายภาคการผลิตและการกระจายสินค้าของภูมิภาค และ  RCEP จะช่วยลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และประสานกฎระเบียบ/มาตรการทางการค้า ส่งผลให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่างๆ ระหว่างกันมากขึ้นทำให้การค้าการลงทุนในภูมิภาครวมถึงไทยมีการขยายตัวขึ้น
ส่วนเรื่องของความท้าทายการขยายตลาดที่ใหญ่ขึ้นของ RCEP ในอุตสาหกรรมที่ไม่มีค่อยมีประสิทธิภาพต้องปรับตัวปรับโครงสร้างการผลิตตลอดจนใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพทางการผลิตมากขึ้นและแข่งขันได้กับประเทศสมาชิกที่มีกำลังผลิตและคุณภาพของสินค้าที่ดีและราคาถูกว่า ธุรกิจและอุตสาหกรรมใดที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ก็จะได้ประโยชน์จากการจัดทำเขตการค้าเสรี[12]

มูลค่าทางการค้าระหว่างไทย – RCEP

รายการ
2012
2013
2014
2015
2016 (ม.ค.-ต.ค.)
มูลค่าการค้า
8,471,978.85
8,192,264.18
8,396,493.66
8,295,175.81
7,076,677.58
การส่งออก
3,950,089.93
3,931,713.71
4,078,944.25
4,027,031.11
3,456,818.25
การนำเข้า
4,521,888.92
4,260,550.48
4,317,549.42
4,268,144.71
3,619,859.33
ดุลการค้า
-571,798.99
-328,836.77
-238,605.17
-238,605.17
-163,041.09
สัดส่วนการค้าโลก
56.99 %
56.24 %

57.05 %
58.69 %
59.32 %
มูลค่า : ล้านบาท (ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร )

จากตารางจะเห็นได้ว่าไทยมีสัดส่วนการค้าเกินครึ่งหนึ่งของการทั้งทั้งโลกกับ ประเทศในกลุ่ม RCEP แม้ดุลการค้า จะติดลบตลอดมาเนื่องจากเป็นการค้ากับกลุ่มประเทศมาหาอำนาจเจ้าแห่งการผลิตอย่าง จีนและญี่ปุ่น แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่และสำคัญกับเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง หากมีการบรรลุความตกลงได้ก็อาจมีการค้าขายที่สะดวกขึ้นจากมาตรการต่างๆแต่ก็อาจมีความท้าทายในหลายประเด็นเช่นกันที่ไทยยังเป็นกังวลในการแข่งขันกับประเทศในกลุ่ม RCEP เช่น ประเด็นเรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญา ที่ไทยมีการผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อยู่เป็นจำนวนมาก และ บริการการเงินที่ยังไม่เข้มแข็งหากเทียบกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น รวมถึงการแข่งขันกับอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพจีนและญี่ปุ่นในปัจจุบัน  รวมถึงในด้านสินค้าเกษตรจากจีนและประเทศอาเซียนที่มีการแข่งขันสูงเช่นกัน
2.ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership Agreement – TPP)
สาเหตุของการก่อตั้ง หลักการทั่วไป และจุดประสงค์ของ TPP
ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP เริ่มมาจากการเจรจา  Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement  หรือ TPSEP/P4 โดย 4 เขตเศรษฐกิจ คือ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ชิลี และ บรูไน ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าระหว่างสี่ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีความหลากหลายในเรื่องของนโยบายทางเศรษฐกิจที่สรุปผลและลงนามการเจรจาได้ในปี 2005 ต่อมาในปี 2008 ก็ได้มีประเทศสมาชิกสนใจเข้าร่วมเจรจาสร้างความตกลงที่กว้างขึ้น คือ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ GDP โลก ทั้งนี้ทำให้ TPP เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก สมาชิกต่างๆได้ลงนามใน ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ในปี 2016 ณ เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ และในปัจจุบันก็อยู่ในขั้นตอนการให้สัตยาบันในประเทศสมาชิกต่างๆเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ [13]
ความตกลง TPSEP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น TPP (Trans Pacific Partnership Agreement) มีสาเหตุของการจัดตั้งมากจาก ความยืดเยื้อของการเจรจาการค้าพหุภาคีระดับโลก ภายใต้ WTO ที่ตกลงกันไม่ได้รัฐต่างๆจึงได้หันไปแสวงหารูปแบบของความร่วมมือแบบภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่คล้ายคลึงกับ RCEP ที่ได้เสนอไว้ข้างต้น
การที่สหรัฐอเมริกาได้มาเข้าร่วม TPP  ในปี 2008 นั้น เป็นผลมาจากความต้องการที่จะตอบโต้สถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆแบบภูมิภาคนิยมในเอเชีย อย่าง CMI ASEAN+3 ที่สหรัฐมิได้มีส่วนร่วมและกำลังคุกคามผลประโยชน์และและความชอบธรรมของระบอบ(ทางการเงิน)ของตน โดยมีการตอบโต้ในรูปแบบความร่วมมือทิวภาคีที่มีการจัดทำเขตกการค้าเสรีกับประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อย่างสิงคโปร์และไทยในปี 2002 และ2003 ต่อมาในปี 2006 ประธานาธิบดีบุช ก็ได้มีการเสนอให้ส่งเสริมรูปแบบ ของ FTAAP ในที่ประชุมของ APEC เพื่อต้องการที่จะฝั่งรูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบพหุภาคีไว้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่ก็มีความเชื่องช้าในการดำเนินการให้บรรลุผลและเป็นรูปแบบความร่วมมือที่เปิดไม่ตอบสนองต่อความต้องการในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามากนัก ต่อมาจึงได้เข้าร่วม TPP ในปี 2008 ในช่วงก่อนสิ้นสุดวาระของประธานาธิบดี บุช และพยายามสร้างรูปแบบของความตกลงที่เป็นผลประโยชน์แก่สหรัฐอเมริกามากที่สุดดังจะกล่าวต่อไป[14] ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและท่าทีของประธานาธิบดี โอบามา อย่าง Pivot to Asia ซึ่งต้องการปรับสมดุลในภูมิภาคเอเชียเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐอเมริกา อย่างการปิดล้อมและลดอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และ TPP นั้นจะเป็นรูปแบบความเชื่อมโยงที่จะไม่ตัดขาดกันระหว่างภูมิภาคอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออก รวมถึงพยายามส่งเสริมคุณค่าในทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเข้าไปในภูมิภาคนี้ด้วย
ความตกลง TPP ต้องการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขยายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก สนับสนุนการสร้างและรักษางาน เสริมสร้างนวัตกรรม ผลผลิต และความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความยากจนระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงส่งเสริมเรื่องความโปร่งใส ธรรมาภิบาล การปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อม พยายามลดการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกขยายตลาดส่งออกจากเขตการค้าเสรี กระตุ้นการลงทุนระหว่างกัน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจ สร้างความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเพื่อบรรเทาความรุนแรงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการสร้างกลไกในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ ในภูมิภาคที่ต้องการให้มีสภาพแวดล้อมที่เปิดและเสรีสำหรับการค้าและการลงทุน[15]
บนพื้นฐานของรูปแบบการบูรนาการทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูงเข้มงวดครอบคลุมหลายประเด็นที่มีผลต่อการเปิดเสรีในมุมมองของสหรัฐอเมริกา ตามที่สหรัฐอเมริกาเคยใช้ในรูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีกับประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มาก่อน เช่น สิงคโปร์ และไทยซึ่งจะมีเงื่อนไขที่เข้มงวดและมักถูกเอาเปรียบในบางประการ เช่น เงื่อนไขที่ต้องการให้ให้ประเทศไทยต้องเข้าร่วมการทำสงครามต่อกลุ่มก่อการร้ายกับสหรัฐ ในข้อตกลง FTA US-THAI ปี 2003 หลังจากที่อเมริกาเข้ามาร่วมในข้อตกลงก็พยายามทำให้ข้อตกลง TPP นี้เป็นลดความเสียเปรียบของอเมริกาในการผลิตสินค้า พยายามทำให้ข้อกำหนดใน TPP เอื้อกับผลประโยชน์ของอเมริกาต้องการและได้เปรียบ เช่น การค้าบริการ การลงทุนในสาขาการเงิน และการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาครัฐภายในความตกลง เป็นต้น[16]
ข้อตกลงต่างๆที่พิจารณาและตกลงไปแล้วใน TPP
 เป็นความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้งในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยมีข้อตกลงต่างๆดังนี้
(1) การค้าสินค้า (2) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (3) กฎถิ่นกําเนิดสินค้า (4) การบริหารจัดการทางศุลกากรและการอํานวยความสะดวกทางการค้า (5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (6 ) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (7) มาตรการเยียวยาทางการค้า (8) การลงทุน (9) การบริการข้ามพรมแดน (10) บริการด้านการเงิน (11) การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจ (12) โทรคมนาคม (13) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (14) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (15) นโยบายการแข่งขัน (16) รัฐวิสาหกิจ (17) ทรัพย์สินทางปัญญา (18) แรงงาน (19) สิ่งแวดล้อม (20) ความร่วมมือและการเสริมสร้างศักยภาพ (21) ความสามารถในการแข่งขันและการอํานวยความสะดวกทางธุรกิจ (22) การพัฒนา (23) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (24) ความสอดคล้องของกฎระเบียบ (25) ความโปร่งใสและการต่อต้านการคอร์รัปชั่น (26) การบริหารจัดการและสถาบัน (27) การระงับขอพิพาท[17]
ซึ่งถ้าเรานำข้อตกลงต่างๆมาเปรียบเทียบกับรูปแบบของข้อตกลงของ WTO ก็จะเห็นว่ามีข้อตกลงที่คล้ายคลึงกันหลายประการ แต่ก็ยังมีความตกลงที่แตกต่างกันไปในบางประเด็นที่ไม่มีใน TPP คือการเปิดตลาด ความตกลงว่าด้วยสนค้าเกษตร ความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด ความตกลงว่าด้วยการตรวจสอบก่อนส่งออก ความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้อง ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ ความตกลงว่าด้วยการค้าเครื่องบนพลเรือน เนื่องจากข้อตกลงเหล่านี้ได้ถูกครอบคลุมอยู่ในข้อตกลงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอยู่แล้วจึงมีการลดขั้นตอนต่างๆเกี่ยวกับการส่งออกลงและยังมีประเด็นใหม่ๆที่ก้าวหน้าขึ้นไปมากจากข้อตกลงของ WTO[18]
ประเทศสมาชิกในกลุ่ม TPP จะได้รับการลดภาษีหรือได้รับการยกเว้นภาษีการนำเข้าสินค้าต่างๆ ตามแต่ละเงื่อนไขของสินค้าในแต่ละประเภท เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ โดยอัตราภาษีการนำเข้าจะลดลงไปอยู่ที่ 0% โดยจะค่อยๆ ปรับลงมาภายใน 30 ปี ด้านสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งเป็นประเภทสินค้าที่มีการกีดกันทางการค้าค่อนข้างสูงในหลายประเทศนั้น ทางญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะค่อยๆ เพิ่มโควตาการนำเข้าข้าวจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม TPP ในแต่ละปีให้มากขึ้น ข้อตกลงยังครอบคลุมในเรื่องของการสร้างกฎระเบียบการค้าและการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยประเทศสมาชิกในกลุ่ม TPP ต้องนำมาตรฐานแรงงานตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) มาบังคับใช้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนี้จะกดดันประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญานั้นได้มีการพูดถึงสิทธิบัตรยา โดยในข้อตกลง TPP คาดว่าระยะเวลาการห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลการทดลองยาในกลุ่มชีวภาพตัวใหม่จะลดลงเหลือ 8 ปี ทำให้บริษัทยาในสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้นและอาจทำให้ราคายาถูกลง ในขณะที่ราคายาในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นประเทศกลุ่มสมาชิกที่ไม่เคยมีเงื่อนไขดังกล่าวมาก่อน จะต้องเผชิญกับราคายาที่แพงขึ้นและอาจเข้าถึงยาได้ช้าลง สำหรับการเปิดเสรีภาคบริการยังเปิดโอกาสให้มีการใช้หลัก Negative list approach (การใช้วิธีการระบุเฉพาะสาขาบริการหรือกิจกรรมที่ไม่ต้องการเปิดหรือมาตรการที่ยกเว้น) ได้อยู่ นอกจากนี้ ข้อตกลง TPP ยังได้มีกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ เช่น ห้ามไม่ให้บริษัทบุหรี่ฟ้องร้องรัฐบาลในกลุ่มประเทศ TPP ในกฎหมายด้านการป้องกันการสูบบุหรี่ เป็นต้น[19]
ผลประโยชน์และความท้าทายของข้อตกลงต่างๆใน TPP ต่อไทย
การที่ไทยยังไม่ได้เข้าไปเป็นสมาชิก TPP อาจจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในด้านการส่งออกและด้านการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้แก่สมาชิกใน TPP โดยผลกระทบต่อภาคการส่งออกนั้น ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกใน TPP ราว 40% ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ดี ไทยได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศในกลุ่ม TPP แล้ว 9 ประเทศยกเว้น สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ทั้งนี้ ไทยอาจจำเป็นต้องพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP โดยไทยต้องศึกษาข้อดีและข้อเสียที่จะได้รับหากจะเข้าร่วมอย่างละเอียด เนื่องจากสมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมกับสมาชิกทั้ง 12 ประเทศได้ ซึ่งน่าจะมีหลายประเด็นที่อ่อนไหวต่อไทย อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นโยบายการแข่งขัน การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและผู้ลงทุนต่างชาติ การแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นที่จะทำให้มาตรฐานต่างๆเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสูงขึ้นตามไปด้วย อาจทำให้ไทยแข่งขันได้ยาก[20]
มูลค่าทางการค้าระหว่างไทย – TPP
รายการ
2012
2013
2014
2015
2016 (ม.ค.-ต.ค.)
มูลค่าการค้า
5,756,926.83
5,535,480.24
5,668,018.99
5,550,562.22
4,683,752.38
การส่งออก
2,818,719.39
2,804,231.70
2,956,394.19
2,976,568.80
2,598,926.42
การนำเข้า
2,938,207.44
2,804,231.70
2,711,624.79
2,573,993.42
2,084,825.96
ดุลการค้า
-119,488.04
72,983.17
244,769.40
402,575.38
514,100.46
สัดส่วนการค้าโลก
38.73
38.00
38.51
39.27
39.26

มูลค่า : ล้านบาท (ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร )
จากตารางจะเห็นได้ว่าแม้สัดส่วนการค้านั้นยังไม่ได้ มีประริมานมากเท่ากับการค้ากับประเทศในความตกลง RCEP แต่การค่าในระยะหลังจะเป็นบวกทุกปี เช่นนี้จึงทำให้เห็นว่าหากไทยได้เข้าร่วม TPP ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้การค้าไทยมีอุปสรรค์ที่น้อยลงและเพิ่มพูนมูลค่าการค้า แต่อาจต้องพบกับการแข่งขันมากขึ้นจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม
3. เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP)
หลักการทั่วไปจุดประสงค์และการก่อตั้ง FTAAP
เป็นการจัดตั้งเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยในปี 2004 เมื่อสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) เห็นว่า แนวโน้มที่เขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในเอเปคจะสามารถบรรลุเป้าหมายโบกอร์ด้วยการเปิดเสรีภายในปี 2010 มีน้อยมาก และจากความล้มเหลวของการเจรจาการค้า WTO ที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ในปี 2003 ABAC จึงเห็นว่า FTAAP จะเป็นแรงกดดันที่สำคัญให้กลุ่มเขตเศรษฐกิจสมาชิก ให้ความสำคัญกับกรอบการเจรจาการค้าระดับโลกและกลับเข้าสู่การเจรจาอีกครั้ง แต่ข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการตอบสนองจากสมาชิกน้อยมาก แต่ได้รับความสนใจอีกครั้งโดยถูกยกระดับแนวคิดสู่ระดับวาระการประชุมเชิงนโยบาย ในการประชุมเอเปคครั้งที่ 14 ในปี 2006 ที่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม จากการที่ประธานาธิบดีบุช ได้มีการเสนอให้มีการส่งเสริม FTAAP ในที่ประชุมของ APEC  เพื่อต้องการที่จะฝั่งรูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบพหุภาคีไว้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยที่สหรัฐอเมริกาจะได้มีส่วนร่วมด้วย[21] หลังเกิดการชะงักงันในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของ WTO รอบโดฮา โดยผู้นำของเขตเศรษฐกิจสมาชิก APEC ต่างเห็นพ้องร่วมกันที่จะดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับ FTAAP ในการประชุมผู้นำเอเปคในทุกปีระหว่างปี 2007 - 2009 แต่ที่ประชุม APEC ก็ยังมีข้อตกลงร่วมกันว่า เป้าหมาย FTAAP ยังคงเป็นเป้าหมายระยะยาว ส่วนการบรรลุเป้าหมายโบกอร์เป็นเป้าหมายระยะกลาง และการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีเป็นเป้าหมายระยะสั้น  ABAC อ้างอิงแนวคิดประโยชน์ที่จะได้รับมากขึ้นจากการเปิดเสรีการค้าในกรอบที่กว้างขึ้นไปสู่ข้อสรุปว่า FTAAP จะทำให้สมาชิกได้ประโยชน์สูงกว่าข้อตกลงที่มีขอบเขตสมาชิกแคบกว่า เช่น EAST ASIA หรือ ASEAN+3 [22]
แม้สมาชิกหลายเขตเศรษฐกิจจะไม่คัดค้านการจัดทำ FTAAP แต่ก็ยังไม่ได้แสดงการสนับสนุนอย่างชัดเจน นักวิชาการต่างเห็นว่า เหตุผลสำคัญที่ FTAAP จะเป็นหนึ่งในหลายทางเลือกในเชิงนโยบายสำหรับสมาชิกเอเปคและโลก คือความล่าช้าในการดำเนินงานเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) ปัญหา Spaghetti bowl จากความซับซ้อนของการจัดทำ FTA/RTA ของสมาชิกเอเปค รวมทั้งความล้มเหลวในการเปิดเสรีรายสาขาโดยสมัครใจของเอเปคในช่วงที่ผ่านมา และประเมิณว่า FTAAP จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเอเปคและเศรษฐกิจโลกโดยรวม หากเอเปคไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยจะสร้างความแข็งแกร่งแก่การเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคี อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่แต่ละสมาชิกจะได้รับนั้นจะแตกต่างกันตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความเป็นไปได้ในการพิจารณา FTAAP ว่าเป็นหนึ่งนโยบายทางเลือกในการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนของเอเปคโดยคงไว้ซึ่งนโยบายการเปิดกว้างในภูมิภาค เป็นเวทีเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน มีหลักผลประโยชน์ร่วมกันโดยคำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของสมาชิก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเอเปคยังขาดแรงผลักดันทางการเมือง ที่จะส่งเสริมการจัดทำ FTAAP ภายในเอเปค รวมทั้งมีข้อจำกัด/อุปสรรคเฉพาะในบางเรื่องในการจัดตั้ง Regional trade bloc ของตน เช่น การดำเนินงานของเอเปคอยู่บนหลักของความสมัครใจ เป็นต้น ความเสี่ยงจากการเพิกเฉยต่อ FTAAP ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มเอเชียตะวันออก กับกลุ่มทวีปอเมริกาได้ ล่าสุดจากการประชุมผู้นาเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 22 วันที่ 26 ตุลาคม ปี 2014 ณ กรุงปักกิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ประชุมผลักดันให้มีการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกโดยที่ประชุมประกาศแผนดำเนินงานเพื่อนาไปสู่การจัดตั้ง FTAAP โดยศึกษายุทธศาสตร์ร่วมกันภายในปี 2016[23]
ผลประโยชน์และความท้าทายของ FTAAP ต่อไทย
ในด้านของผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับนั้นคือการส่งเสริมพลังทางเศรษฐกิจและปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าป้องกันไม่ให้ถูกกดดันโดยการใช้มาตรการฝ่ายเดียว มีโอกาสในการขยายลู่ทางทางการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกจากการลดอุปสรรคทั้งที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษี
ชาวไทยได้รับโอกาสในการเลือกบริโภคสินค้าและบริการต่างๆที่จะมีราคาถูกลง ส่วนผู้ผลิตก็จะได้รับประโยชน์จากการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ ในกรอบสมาชิก FTAAP มีปริมาณการค้าระหว่างกันคิดเป็นร้อยละ 40 ของการค้ารวมของโลก การผลักดัน FTAAP จะช่วยขยายตลาด การส่งออกสินค้า และบริการของไทยไปยังประเทศสมาชิก
ส่วนในด้านความท้าทายต่อไทยหากการผลัดดัน FTAAP สำเร็จ อุตสาหกรรมที่ไม่มีค่อยมีประสิทธิภาพต้องปรับตัวปรับโครงสร้างการผลิตตลอดจนใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพทางการผลิตมากขึ้น ธุรกิจและอุตสาหกรรมใดที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ก็จะได้ประโยชน์จากการจัดตั้ง FTAAP[24]
มูลค่าทางการค้าระหว่างไทย – ประเทศสมาชิกในกรอบ FTAAP

รายการ
2012
2013
2014
2015
2016 (ม.ค.-ต.ค.)
มูลค่าการค้า
10,010,826.68
9,675,586.00
9,951,329.80
9,826,389.70
8,344,339.29
การส่งออก
4,846,272.33
4,789,192.08
4,979,318.49
4,930,098.71
4,258,546.81
การนำเข้า
5,164,554.35
4,886,393.92
4,972,011.31
4,896,290.98
4,085,792.48
ดุลการค้า
-318,282.02
-97,201.84
7,307.17
33,807.73
172,754.33
สัดส่วนการค้าโลก
67.35

66.42
67.62
69.53
69.95

มูลค่า : ล้านบาท (ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร )
จากตารางจะเห็นได้ว่าแม้สัดส่วนการค้านั้นสูงกว่า กลุ่มประเทศในความตกลง RCEP และมีดุลการค้าเป็นบวกตลอดสามปีล่าสุด หากสมาชิกกลุ่ม APEC สามารถผลักดัน FTAAP ไม่บรรลุความสำเร็จได้ก็อาจจะสามารถขยายตลาดการค้าการลงทุนร่วมกันได้แม่จะมีการแข่งขันระหว่างประเทศสมาชิกอยู่บ้างแต่ความไม่เข้มงวดของ FTAAP อาจสร้างความยืดหยุ่นและ การละเลยความรับผิดชอบของประเทศสมาชิกได้สิ่งเป็นดาบสองคมที่ประเทศสมาชิกต้องเผชิญไปร่วมกัน
  
ผลประโยชน์และความท้าทายต่อไทยหากอยู่ใน RCEP ต่อไป และไม่เข้าร่วม TPP
ผลประโยชน์และความท้าทายต่อไทยในระยะสั้นและระยะยาว
ในระยะสั้นช่วงนี้ที่ตลาดและเขตเศรษฐกิจใหญ่ของสหรัฐอเมริกาหนึ่งในสมาชิก TPP ที่กำลังซบเซาและเริ่มพยายามจะนำนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมกลับมาใช้ในประเทศตนเองทำให้มีความต้องการกีดกันทางการค้ามากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อข้อกำหนดต่างๆใน TPP ที่พยายามลดความเสียเปรียบของอเมริกาในการผลิตสินค้า เอื้อในสิ่งที่อเมริกาต้องการและได้เปรียบต่างๆจะยิ่งมีมากขึ้นทำให้ประเทศสมาชิกต่างๆอาจถูกเอาเปรียบมากขึ้น เช่นนี้การไม่เข้าร่วม TPP ของไทยจะไม่ต้องเผชิญกับข้อตกลงเหล่านั้น รวมถึงข้อตกลงที่มีมาตรฐานสูงอีก โดยเฉพาะเรื่อง ระดับการเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุนในสาขาการเงินที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีระบบการเงินที่แข็งแกร่งกว่า รวมถึงความเสี่ยงในแง่ของการออกไปลงทุนในสาขาการเงินของไทยในประเทศที่ใหญ่กว่า ระดับการเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และทรัพย์สินทางปัญญา ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาเพื่อให้ความตกลงสามารถบรรลุผลในระยะสั้นและในเรื่องของสิทธิบัตรยาที่จะส่งผลกระทบต่อภาคประชาสังคมของประเทศในวงกว้างเกี่ยวกับเรื่องของการเข้าถึงยาอีกด้วย แต่ในระยะยาวเมื่อใดที่ตลาดและเขตเศรษฐกิจสหรัฐกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งมีความต้องการมากขึ้นไทยอาจมีความท้าทายและเสียเปรียบในทางเศรษฐกิจ ตามที่ กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบของความตกลง TPP ต่อการค้าระหว่างประเทศและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของไทย ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นสรุปว่า หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง TPP จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวร้อยละ 0.93 มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมขยายตัวร้อยละ 2.29 และมูลค่าการนำเข้าสินค้ารวมขยายตัวร้อยละ 4.71 และมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดในสมาชิก TPP จะขยายตัวร้อยละ 6.1 โดยตลาดที่ขยายตัวสูงสุด ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเวียดนาม สินค้าที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ กลุ่มยานยนต์ และเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย [25][26]
ผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อไทยหากอยู่ใน RCEP ต่อไป และไม่เข้าร่วม TPP
ในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ ไทยอาจถูกจับตาจากประเทศมหาอำนาจที่อยู่ใน TPP ซึ่งเศรษฐกิจที่ไทยอยู่ในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็ให้ความสำคัญในการเชื้อเชิญไทยในการเข้าร่วม ซึ่งไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2012 ในโอกาสที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการไปแล้ว ซึ่งสหรัฐอเมริกาอาจเพื่อหวังผลในการเชื้อเชิญไทยโดยไม่ให้ไทยเอนเอียงเข้าสู่ จีนซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ตนต้องการปิดล้อมทั้งด้านความมั่นคงและมั่งคั่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาก็อาจให้ความสำคัญต่อ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกน้อยลงเนื่องจาก ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ เน้นไปที่นโยบายแนวเศรษฐกิจชาตินิยมเพื่อสร้างฝันให้แก่ประชาชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศตนเองก่อน เช่นนี้ไทยจึงยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนในการตัดสินใจนัก[27] [28]
ในทางเศรษฐกิจการอยู่ใน RCEP นั้นจะส่งผลให้ไทยมีมูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง เนื่องจากภาษีนำเข้าลดลงหรือเป็นศูนย์ รวมถึงส่งผลให้มีการลงทุนระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น แต่ก็จะไม่ได้ผลประโยชน์นี้ด้วยในฝั่งของ TPP อุตสาหกรรมที่จะเสียผลประโยชน์ คือ อุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ อย่าง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเลแปรรูปและผลไม้แปรรูปของไทย เนื่องจากไทยไม่ได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯในปัจจุบัน เช่นเดียวกับการสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่มีความหลากหลายทั้งเชิงคุณภาพและราคามากขึ้นก็จะอยู่ในกรอบของภูมิภาคประเทศสมาชิก RCEP  แต่จะไม่ถูกเอาเปรียบจากข้อกำหนดต่างๆใน RCEP มากนักเพราะมีพื้นฐานมาจากข้อตกลงเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ ที่สำคัญยังมี ASEAN เป็นศูนย์กลาง และมีอำนาจในการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ได้ทำให้ความเท่าเทียมของอำนาจมีมากกว่าการต่อรองโดยประเทศเล็กประเทศเดียวต่อมหาอำนาจ  แต่ในด้านผลกระทบจากการลงทุนจากต่างชาตินั้น ไทยจะเสียเปรียบคู่แข่งใน TPP อย่างเวียดนามและมาเลเซีย ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ TPP อีกทั้งในข้อตกลงของ TPP มีการคุ้มครองผู้ลงทุนต่างชาติผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ลงทุนกับภาครัฐ โดยปัจจุบันการลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาในไทยค่อนข้างทรงตัว ต่างจากเวียดนามที่การลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[29][30]
 ในมุมมองของ NGOs การเจรจา WTO รอบโดฮา ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เหตุผลหนึ่งก็คือการที่ NGOs ทั้งหลายไม่ยอมให้ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม OECD ใช้มาตรฐานใหม่เพื่อกีดกันทางการค้า เช่น มาตรฐานด้านชีวอน่ามัย ทรัพย์สินทางปัญญา การจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์  แต่สำหรับ TPP แล้วสิ่งเหล่านี้ถูกนำเข้ามาสู่กรอบการเจรจาทั้งสิ้น รวมถึงการขยายอายุสิทธิบัตร จาก 20 ปีออกไปอีกไม่เกิน 5 ปีเพื่อชดเชยความล่าช้าของกระบวนการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตร และให้ขยายอายุสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการใช้ยาแบบใหม่เพียงเล็กน้อย การผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี สำหรับยาใหม่ และ 3 ปี สำหรับยาที่ได้รับสิทธิบัตรมาแล้ว  จำกัดการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ไม่อนุญาตให้หน่วยงานจัดซื้อยาของรัฐต่อรองราคายา และบังคับเปิดตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งความเห็นของ NGOs แล้ว TPP คือชัยชนะของประเทศพัฒนาแล้วที่จะเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนา  โดยไม่สนใจกรอบเจรจาของ WTO ซึ่งประเทศกำลังพัฒนา  อย่างไทยควรตระหนักถึง[31][32]
ผลประโยชน์และความท้าทายต่อไทยหากอยู่ใน RCEP ต่อไป และเข้าร่วม TPP ด้วย
ผลประโยชน์และความท้าทายต่อไทยในระยะสั้นและระยะยาว
                ในระยะสั้นนั้นหากไทยอยู่ในความร่วมมือทั้งสอง ตามหลักเศรษฐศาสตร์ แล้วเศรษฐกิจไทยจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น การค้าไทยกับภูมิภาคจะเพิ่มมากขึ้น การลงทุนจะเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตจะลดลง ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกต่างๆ และการที่ RCEP นั้นเป็นการต่อยอดจากการรวมกลุ่มของอาเซียนกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ที่สำคัญ โดยมี ASEAN เป็นศูนย์กลาง มีอำนาจในการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ได้ ในระยะสั้นนี้ที่จีนกำลังสร้างความเชื่อมั่นให้กับเพื่อนบ้านในภูมิภาคไม่ให้หวาดระแวง มองว่าการเจริญเติบโตในด้านความมั่งคั่งและความมั่นคงของจีนเป็นภัยคุกคามต่อประเทศตน โดยใช้อำนาจอ่อนในการสร้างความเข้าใจและลดความหวาดระแวงนั้น เช่น การเข้าไปลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในระยะยาวหากจีนมีความมั่งคั่งและความมั่นคงอย่างเต็มที่พร้อมที่จะเผชิญและกำจัดชาติมหาอำนาจใดๆในผู้ภูมิภาคต่างๆเพื่อความมั่นคงของชาติตน ความตกลงต่างๆที่มีจีนอยู่ด้วยนั้นย่อมจะถูกจัดระเบียบให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุดกับจีน ในฐานะมหาอำนาจทุนนิยมที่ต้องการผลประโยชน์สูงสุดในทุกความร่วมมือที่ชาติตนเกี่ยวข้องดังที่เกิดขึ้นใน TPP  ในกรณีของสหรัฐอเมริกา [33]
ผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อไทยหากอยู่ต่อใน RCEP และเข้าร่วม TPP
ในทางเศรษฐกิจ หากไทยเข้าร่วม TPP ก็เท่ากับจะมี FTA กับ 9 ประเทศ แต่หากวิเคราะห์ 9 ประเทศเหล่านี้จะเห็นได้ว่าเกือบทั้งหมดไทยมี FTA กับประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว เช่นนี้ก็จะไม่ได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ที่เหลือ 2 ประเทศ คือ ชิลีและสหรัฐฯ ที่ไทยยังไม่มี FTA ด้วย สำหรับชิลีไทยค้าขายกับชิลีน้อยมากแต่อาจนำไปสู่การเปิดตลาดใหม่สำหรับไทย ส่วนผลประโยชน์ที่จะได้จาก FTA กับสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ไทยก็เคยเจรจา FTA ทวิภาคีกับสหรัฐฯมาแล้วในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ และมีหลายสาขาที่ไทยเสียเปรียบสหรัฐฯ แม้ว่าไทยอาจจะได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าบางตัวไปสหรัฐฯมากขึ้น แต่ก็อาจจะต้องแลกกับการที่ไทยจะต้องเปิดเสรีการค้าภาคบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน และการเชื่อมโยงการค้ากับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์จาก ญี่ปุ่นประเทศที่มีบรรษัทข้ามชาติรายใหญ่มาลงทุนอุตสาหรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมหาศาลอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็ได้คาดหวังอยากให้ไทยเข้าร่วมและจะได้รับสิทธิประโยชน์ร่วมกันจากข้อตกลง เช่น การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบอย่างเสรี เขตการค้าเสรี จัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาครัฐภายในความตกลง แต่ในข้อตกลงเรื่องภาษีการนำเข้ารถยนต์และส่วนประกอบในกลุ่ม TPP ที่จะทยอยปรับลดลงมาในระยะเวลา 30 ปี ซึ่งแม้จะค่อยๆ เอื้อประโยชน์ให้กับสมาชิก TPP แต่ในข้อบังคับการใช้วัตถุดิบภายในกลุ่มประเทศ TPP นั้น ญี่ปุ่นได้ขอให้ลดข้อบังคับการใช้วัตถุดิบภายในกลุ่มประเทศลง โดยได้สรุปให้มีการใช้วัตถุดิบภายในกลุ่มประเทศที่เพียง 45% โดยจะส่งผลดีต่อบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นและผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทย สิ่งเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดที่เข้มงวดเช่นกันจึงต้องพิจารณาอย่างละเอียด [34]
ในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ จะเกิดผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์หากไทยเข้าร่วม TPP จะทำให้สหรัฐฯพอใจไทยก็จะเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯต่อไป แต่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับจีน เนื่องจากความตกลง TPP ถือเป็นกลไกและยุทธศาสตร์ต่างประเทศที่สหรัฐฯ นำมาใช้ในการปิดล้อมและถ่วงดุลการขยายอำนาจของจีนในภูมิภาค ในขณะที่ความตกลง RCEP จะเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่มีเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในมุมมองของภาคเอกชนผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เคยให้ข้อสังเกตกับกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2010 เนื่องในโอกาสเข้าพบรองปลัดกระทรวงฯ ว่าภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความกังวลเกี่ยวกับ TPP เพราะจะทำให้การแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นมาก และจะทำให้มาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น สิ่งแวดล้อม แรงงาน ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนไทยแข่งขันได้ยาก ขณะนี้ จึงให้ความสำคัญสูงสุดกับการรวมตัวในกรอบอาเซียน และต้องการผลักดันให้อาเซียนคงความเป็นศูนย์กลาง[35]

วิเคราะห์รูปแบบในการเข้าร่วม TPP (เดี่ยวหรือกลุ่ม)
ตามหลักรัฐศาสตร์นั้น Fear of exclusion คือ หากประเทศต่างๆในภูมิภาคเข้าร่วม TPP แต่ไทยไม่ได้เข้าร่วม เราก็จะเสียเปรียบ เราจะตกรถไฟสาย TPP ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP เพิ่มเติมนั้นต้องแสดงเจตนารมณ์การเข้าร่วมโดยการยื่นหนังสืออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับมอบสัตยาบันสาสน์และผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาและจะต้องได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิกทั้งหมดในการยอมรับการเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งประเทศที่แสดงเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการ ภายหลังจากที่ TPP สรุปผลการเจรจาไปแล้ว ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ฮอนดูลัส โคลอมเบียและอินโดนีเซีย สำหรับไทยหากจะเข้าร่วมเวลานี้โดยดึงประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมด้วย ก็จะเหลือ พม่า กัมพูชา ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายเอาใจสนับสนุนจีนและพึ่งพาจีนในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากการคืนสู่ตำแหน่งทางการเมืองของนาง ออง ซาน ซูจี ทำให้พม่าอาจเป็นประเทศเดียวที่ไทยสามารถจะเจรจาเพื่อเข้าร่วม TPP ร่วมกันได้[36]
เปรียบเทียบรูปแบบข้อตกลง กรณีการเจรจา FTA อเมริกา-ไทย ปี 2003 กับ TPP
                การเจรจา FTA อเมริกา-ไทยแบ่งประเด็นการเจรจาออกเป็น 22 ประเด็นซึ่งประเด็นต่างๆมีอยู่ในประเด็นของความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของ TPP ทั้งสิ้น แต่ TPP ได้มีการเพิ่มประเด็นในข้อตกลงขึ้นอีกคือในประเด็นของ การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ การบริหารจัดการและสถาบัน ซึ่งทำให้ดูมีความเข้มงวดมากขึ้นและมีการแทรกแซงกิจการภายในรัฐสมาชิกมากขึ้น[37]
ผลประโยชน์และความท้าทายต่อไทยหากอยู่ใน RCEP ต่อไป และเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม TPP รวมถึงผลักดันหรือไม่ผลักดัน FTAAP
หากไทยอยู่ใน RCEP ต่อไป และเข้าร่วม TPP รวมถึงผลักดัน FTAAP
                หากไทยผลักดันและอยู่ในความร่วมมือทั้งสามแล้ว เศรษฐกิจไทยจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น การค้าไทยกับกลุ่มประเทศสมาชิกจะเพิ่มมากขึ้น การลงทุนจะเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตจะลดลงระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกต่างๆ แต่อาจต้องเผชิญกับความท้าทายของข้อกำหนดต่างๆที่เข้มงวดและเสียเปรียบต่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาใน TPP และการที่ไทยสนับสนุนในการผลักดัน FTAAP นั้น จะเป็นการสร้างสะพานความร่วมมือระหว่าง TPP และ RCEP ให้กับไทยและประเทศมหาอำนาจคู่แข่งอย่าง สหรัฐอเมริกาและจีน เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทั้งสองเป็นสมาชิก APEC แสดงให้เห็นถึงท่าทีของไทยที่พร้อมจะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ไทยควรพิจารนาใช้นโยบายการทูตที่ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด คือ การดูทิศทางลม โดยหากในอนาคตมีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆเข้าร่วม TPP และผลักดัน FTAAP มากขึ้นเรื่อยๆ ไทยก็อาจจะต้องเข้าร่วมและช่วยผลักดัน เพื่อไม่ให้ตกรถไฟและเสียผลประโยชน์ ตามแนวการดำเนินนโยบายต่างประเทศไทยที่ใช้มาตลอดคือ เป็นลักษณะการตามลม (Wending With the Wind) หรือทูตไม้ไผ่ (Bamboo Diplomacy) [38][39]
หากไทยอยู่ใน RCEP ต่อไป และเข้าร่วม TPP แต่ไม่ผลักดัน FTAAP
                ผลประโยชน์ต่างๆและความท้าทายก็จะเหมือนกับการที่ไทยอยู่ใน RCEP ต่อไป และเข้าร่วม TPP แต่จะขาดไปซึ่งกรอบข้อตกลงในองค์กรที่จะเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือและกระจายผลประโยชน์ให้แก่มหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา และจีน  รวมถึงประเทศสมาชิก TPP และ RCEP และไทยอาจพลาดโอกาสในรูปแบบผลประโยชน์ของความร่วมมือที่กว้างขึ้น หากไม่สนใจและไม่ร่วมผลักดันแต่ถึงกระนั้นตามที่กล่าวมาแล้ว ที่ประชุม APEC ยังมีความเห็นร่วมกันว่า เป้าหมาย FTAAP นั้นยังคงเป็นเป้าหมายระยะยาว ส่วนการบรรลุเป้าหมายโบกอร์เป็นเป้าหมายระยะกลาง และการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีเป็นเป้าหมายระยะสั้น ซึ่งคงยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะบรรลุเป้าหมายสองขั้นแรกได้เนื่องจากประเทศสมาชิกยังมีความหวาดระแวงระหว่างกันในการที่บางประเทศจะไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหากผลักดันเป้าหมายใดๆขึ้นมา เนื่องจาก APEC ไม่มีข้อผูกมัดประเทศใดๆในการปฏิบัติตาม มติ หรือ ปฏิญญาใดๆ ไม่มีอำนาจบังคับใช้ หรือลงโทษผู้ฝ่าฝืน ดังนั้นไทยก็ยังคงดูทิศทางลมไปก่อนที่จะพิจารณาได้อีกนาน[40][41]

หากไทยอยู่ใน RCEP ต่อไป และไม่เข้าร่วม TPP แต่ผลักดัน FTAAP
หากเป็นเช่นนั้นไทยก็จะได้ผลประโยชน์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วจาก RCEP คือ ในทางเศรษฐกิจการอยู่ใน RCEP นั้นจะส่งผลให้ไทยมีมูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง เนื่องจากภาษีนำเข้าลดลงหรือเป็นศูนย์ รวมถึงส่งผลให้มีการลงทุนระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น และจะไม่ถูกเอาเปรียบจากข้อกำหนดต่างๆใน RCEP มากนักเพราะมีพื้นฐานมาจากข้อตกลงเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ ส่วนการที่ไทยไม่เข้าร่วม TPP ก็จะเสียผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เช่น เศรษฐกิจไทยจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นจาก GDP ที่จะขยายตัวร้อยละ 0.93 การค้าการลงทุนจะเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตจะลดลง แต่ทั้งนี้ไทยก็ไม่ต้องเสียเปรียบในข้อกำหนดต่างๆที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ครอบงำ เช่น การค้าบริการ การลงทุนในสาขาการเงิน และการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาครัฐภายในความตกลง  มาตรฐานด้านแรงงาน ชีวอน่ามัย ทรัพย์สินทางปัญญา การจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ และการขยายอายุสิทธิบัตรยา เป็นต้น แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาก็อาจให้ความสำคัญต่อ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกน้อยลงเนื่องจาก ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ เน้นไปที่นโยบายแนวเศรษฐกิจชาตินิยมเพื่อสานฝันให้แก่ประชาชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศตนเองก่อน เช่นนี้ไทยจึงยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนในการตัดสินใจนักยังคงรอดูทิศทางลมต่อไปได้ แต่การที่จะไปผลักดันกรอบข้อตกลง FTAAP ก็ยังคงเป็นเป้าหมายระยะยาวที่ยังต้องใช้เวลาในการโน้มน้าวประเทศสมาชิก APEC ให้เห็นชอบ[42]
หากไทยอยู่ใน RCEP ต่อไป และไม่เข้าร่วม TPP และไม่ผลักดัน FTAAP
หากไทยอยู่แต่ในความร่วมมือ RCEP ก็จะพลาดโอกาสและผลประโยชน์ต่างๆใน TPP และ FTAAP ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ใน TPP เช่น GDP ที่จะขยายตัวร้อยละ 0.93 การค้าการลงทุนจะเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตจะลดลง  ใน FTAAP เช่น เสริมพลังทางเศรษฐกิจและปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าป้องกันไม่ให้ถูกกดดันโดยการใช้มาตรการฝ่ายเดียว การขยายตลาด การส่งออกสินค้า และบริการของไทยไปยังประเทศสมาชิก  การขยายลู่ทางทางการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกจากการลดอุปสรรคทั้งที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษี ได้รับโอกาสในการเลือกบริโภคสินค้าและบริการต่างๆที่จะมีราคาถูกลง ส่วนผู้ผลิตก็จะได้รับประโยชน์จากการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ ในทางการเมืองระหว่างประเทศก็อาจถูกมหาอำนาจทั้งในและนอกภูมิภาคอย่าง อเมริกา และ ญี่ปุ่น จับตามองว่าเอนเองไปในทางของจีนมากเกินไป อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการลงทุนระหว่างกันได้โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของความเชื่อมั่นและผลประโยชน์ของ ฐานผลิตขนาดใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นในไทย แต่ทั้งใน TPP และ FTAAP ยังเป็นความตกลงที่ยังไม่บรรลุผลในการบังคับใช้ไทยก็ยังมีเวลาพิจารนาต่อไปก่อนการตันสินใจในท่าทีการดำเนินการของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยในอนาคต[43]

ข้อเสนอของผู้เขียนต่อทิศทางการดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยจากทางเลือกต่างๆ  
            ข้าพเจ้าเห็นว่าไทยควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ต่อทางเลือกต่างๆที่เสนอมาข้างตนโดยการอยู่ใน RCEP ต่อไป และเข้าร่วม TPP รวมถึงผลักดัน FTAAP ให้แล้วเสร็จเพื่อผลประโยชน์ที่รอบด้านและเชื่อมโยงทาง เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศของไทย เพื่อเป็นไปตามรูปแบบ กลยุทธ์ที่ไทยใช้และประสบความสำเร็จมาตลอดการคือการจัดการและป้องกันความเสี่ยง (Classic Hedging Strategy) ต่อความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจที่เข้ามาแทรกแซงในภูมิภาคของตน แต่เนื่องจากความร่วมมือในกรอบ TPP และ FTAAP ยังไม่มีความคืบหน้ามากนักและ TPP ถูกหยุดชะงักไว้โดยปัจจัยทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา ไทยจึงยังมีเวลาที่จะดูทิศทางลม
หากในอนาคต TPP กลับมาดำเนินการได้อีกครั้งและ FTAAP มีประเทศให้การสนับสนุนมากขึ้นและมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไทยก็ควรเข้าร่วมและผลักดัน เพื่อผลประโยชน์ทั้งทางการเมือง คือการจัดการความเสี่ยงและใช้รูปแบบการถ่วงดุลระดับต่ำ (Low-Level Balancing) ที่ไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ดำเนินการมาตลอดต่อความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจในภูมิภาค อย่าง จีน และ สหรัฐอเมริกา ที่ในขณะนี้เป็นผู้มีบทบาทนำใน RCEP และ TPP
ในทางเศรษฐกิจ คือ การขยายตลาดที่ใหญ่ขึ้นส่งผลให้มูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง เนื่องจากภาษีนำเข้าลดลงหรือเป็นศูนย์ รวมถึงส่งผลให้มีการลงทุนระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในด้านการส่งออกและด้านการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ การส่งเสริมพลังทางเศรษฐกิจและปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า การป้องกันไม่ให้ถูกกดดันโดยการใช้มาตรการฝ่ายเดียวใน FTAAP การสร้างโอกาสในการขยายลู่ทางทางการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกจากการลดอุปสรรคทั้งที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษี การที่ประชาชนจะได้บริโภคสินค้าและบริการต่างๆที่จะมีราคาถูกลงและ ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ
                ปัจจุบันการที่รัฐบาลไทย พยายามผลักดันและดำเนินการตาบแบบแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจไทย 4.0 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยไปสู่รูปแบบ ฐานเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (Value-Based Economy) เศรษฐกิจแบบทำน้อยได้มาก เน้นรูปแบบของการผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรม และเน้นภาคบริการมากขึ้น การพัฒนาสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี การพัฒนา SME ให้มีศักยภาพสูงขึ้นในการประกอบการ การพัฒนาภาคบริการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึง การพัฒนาให้เกิดแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสอดคล้องในความตกลง ทั้งใน RCEP  ที่เปิดกว้างในประเด็นใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ใน TPP ที่เน้นในเรื่อง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แรงงาน ความร่วมมือและการเสริมสร้างศักยภาพ ความสามารถในการแข่งขันและการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ การพัฒนา และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ใน FTAAP ที่มีโอกาสในการขยายลู่ทางทางการบริการ และในองค์การก็มีคณะทำงานด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม เน้นร่วมมือทั้งทางเศรษฐกิจและวิชาการส่งเสริมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย จึงจะเห็นได้ว่าทั้ง RCEP TPP และ FTAAP นั้นมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจไทย 4.0 ทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเมื่อเวลาอันเหมาะสมและเกิดความเป็นรูปธรรมของ ความตกลงต่างๆมากขึ้นไทยควรที่จะให้ความสนใจและเข้ารวมผลักดันในความตกลงทั้งสามด้านในอนาคต


ตารางเปรียบเทียบข้อตกลง RCEP TPP กับ WTO และผลกระทบต่อไทย
ข้อตกลง
WTO
RCEP
TPP
ผลกระทบต่อไทย
สินค้าเกษตร
มี
ไม่มี
ไม่มี
เพิ่มความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตร
สิ่งทอและเสื้อผ้า
มี
ไม่มี
มี
เพิ่มความสามารถในการแข่งขันสิ่งทอและเสื้อผ้า
สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
มี
มี
มี
เป็นผลเสียต่อสินค้าไรมาตรฐาน
อุปสรรคทางด้านเทคนิคต่อการค้า
มี
มี
มี
ขยายตลาด และเกิดการแข่งขันจากสินค้าภายนอก
ลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า
มี
มี
มี
เกิดการแข่งขันภายในประเทศ
ตอบโต้การทุ่มตลาด
มี
ไม่มี
ไม่มี
เกิดความเป็นธรรม
กฎเกี่ยวกับถิ่นกําเนิดสินค้า
มี
มี
ไม่มี
ลดการกีดกันทางการค้า
การออกใบอนุญาตนําเข้า
มี
ไม่มี
ไม่มี
ลดการบิดเบือนทางการค้า
การอุดหนุนและการตอบโต้การอุดหนุน
มี
ไม่มี
ไม่มี
เกิดความเป็นธรรมต่อสินค้าภายในประเทศ
มาตรการปกป้องภาษี
มี
ไม่มี
ไม่มี
ปกป้องสินค้าในประเทศ
การค้าบริการ
มี
มี
มี
เปิดเสรีครอบคลุม
ทรัพย์สินทางปัญญา
มี
มี
มี
ส่งผลกับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
ศุลกากรการอำนวยความสะดวก
มี
มี
มี
สร้างความโปร่งใส ขยายตลาด









[1] จุลชีพ ชินวรรโณ. (2016) ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก วิกฤตและการท้าทายในศตวรรษ 21 : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[2] Jagannath P. Panda (2014) Strategic Analysis: Factoring the RCEP and the TPP: China, India and the Politics of Regional Integration p.50-67 Routledge.
[3] ASEAN WATCH (2013) อาเซียนเวทีประลองมหาอำนาจ ? : จุลสารจับตาอาเซียน ปีที่ 2 ฉบับที่ 1.
[4]วิศาล บุปผเวส. (2016 ) ผลกระทบของการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจใน ภูมิภาค (RCEP) และกลยุทธ์การเจรจาที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร่วมกับ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ.

[5] สำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (2015) การเจรจาความตกลงหุ่นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สืบค้นข้อมูลได้ที่ :http://www.thaifta.com/thaifta/Home/FTAbyCountry/tabid/53/ctl/detail/id/41/mid/480/usemastercontainer/true/Default.aspx
[6]  สำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (2015) การเจรจาความตกลงหุ่นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สืบค้นข้อมูลได้ที่ : http://www.dtn.go.th/files/FTA/RCEP/rcep-start0259.pdf.
[7] C.Fred Bergsten (2007) China and Economic Integration in East Asia: Implication for the United States: Policy Brief 07-3.

[8] Ibid.,5
[9] ฐานเศรษฐกิจ (2016) รัฐมนตรี RCEP เร่งหารือสรุปผลการเจรจาการเปิดตลาดการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน ฉบับวันที่ 9/11/16: สืบค้นข้อมูลได้ที่ http://www.thansettakij.com/2016/11/09/112750
[10] Ibid.,6
[11] สำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (2012) ความตกลงที่สำคัญต่างๆ ภายใต้ WTO สืบค้นข้อมูลได้ที่: http://www.dtn.go.th/index.php/เวทีการเจรจาการค้า/item/ความตกลงต่างๆ-ภายใต้-wto.html

[12]  Ibid.,5
[13] USTR (2015) Summary of the Trans-Pacific Partnership AgreementAustralia and the Trans-Pacific สืบค้นข้อมูลได้ที่: https://ustr.gov/about-us/policy-offices/press-office/press-releases/2015/october/summary-trans-pacific-partnership

[14] Ibid.,7
[15] Young-Chan Kim. (2015) Chinese Global Production Networks in ASEAN  RCEP vs. TPP: The Pursuit of Eastern Dominance p.19-37: Springer

[16] Ibid.,7
[17] สำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (2012) ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก สืบค้นข้อมูลได้ที่: http://www.dtn.go.th/index.php/forum1/tpp/item/ความเป็นมา-3.html?category_id=425

[18] สำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (2012) ความตกลงที่สำคัญต่างๆ ภายใต้ WTO สืบค้นข้อมูลได้ที่: http://www.dtn.go.th/index.php/เวทีการเจรจาการค้า/item/ความตกลงต่างๆ-ภายใต้-wto.html
[19] วรดา ตันติสุนทร (2015) Trans-Pacific Partnership (TPP): การเจรจาเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2015 สืบค้นข้อมูลได้ที่  www.scbeic.com/th/detail/product/1820
[20] กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ (2015)  ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement – TPP สืบค้นข้อมูลได้ที่ aspa.mfa.go.th/aspa/th/editor_picks/detail.php?ID=685

[21] Ibid.,7
[22] สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2011) รายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์(Final Report) โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคและผลกระทบต่อไทย: เสนอต่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศโดย
 [23] Ibid.,22
[24] Ibid.,1
[25] ชาญชัย โฉลกคงถาวร (2015) TPP vs RCEP : ความตกลงฉบับไหนดีสำหรับไทยและอาเซียน? สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม วารสารการพิมพ์ไทย  สืบค้นข้อมูลได้ที่  www.thaiprint.org/thaiprint/index.php?option=com_zoo&view=item&item_id=823&Itemid=54
[26] ประภัสสร์ เทพชาตรี (2011) Trans-Pacific Partnership หรือ TPP : ผลกระทบต่อไทย ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 6 วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2554 สืบค้นข้อมูลได้ที่ www.drprapat.com/ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP : ผลกระทบต่อไทย/

[27] ไกรสินธุ์ วงศ์สุรไกร (2015) การจัดทำความตกลงภูมิภาคหุ้นส่วนเศรษฐกิจ Regional Comprehensive Economic Partnership กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สืบค้นข้อมูลได้ที่ www.thaifta.com/trade/public/kraisri_24oct55.pdf
[28] ประภัสสร์ เทพชาตรี (2012) TPP : ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 – วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม 2554 สืบค้นข้อมูลได้ที่ http://www.drprapat.com/tpp-ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน/

[29] ปรเมธี วิมลศิริ (2016) รอบรู้เศรษฐกิจ ตามติดตลาดโลก ปรเมธีหนุนไทยร่วมวง RCEP กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ปีที่ 13 ฉบับที่ 4726 วันที่ 15 มกราคม 2559 หน้า B12 สืบค้นข้อมูลได้ที่ www.ditp.go.th/contents_attach/141988/141988.pdf
[30] ประภัสสร์ เทพชาตรี (2014) RCEP vs TPP ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2556 สืบค้นข้อมูลได้ที่ www.drprapat.com/rcep-vs-tpp
[31] Ibid.,1
[32] โอฬาร สุขเกษม (2015) ข้อตกลงการค้าเสรี TPP l ฐานเศรษฐกิจ สืบค้นข้อมูลได้ที่  www.thansettakij.com/2015/10/26/15430

[33] ประภัสสร์ เทพชาตรี (2015) ไทยตกรถหรือไม่ ? สืบค้นข้อมูลได้ที่ http://www.drprapat.com/tpp-ไทยตกรถหรือไม่/
[34]  Ibid.,33
[35] Ibid.,20
[36] Ibid.,17
[37]  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (2003) ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา สืบค้นข้อมูลได้ที่: http://www.isit.or.th/uploads/Trademeasures/429-file.pdf

[38] Ibid.,33
[39] Ibid.,22
[40] Ibid.,1
[41] Ibid.,9
[42] Ibid.,22
[43] Ibid.,6 

ความคิดเห็น